ยางแผ่น คือ น้ำยางพาราที่ถูกแปรสภาพให้อยู่ในรูปแบบแผ่นยาง เพื่อให้ง่ายต่อการจัดเก็บรักษาและนำไปใช้ประโยชน์ ซึ่งในขั้นตอนนี้เองที่ กรดน้ำส้มยาง เข้ามามีส่วนช่วยทำให้น้ำยางแข็งตัว
หลักสำคัญในการทำยางแผ่นให้สวย
หลักการในการทำยางแผ่นให้มีคุณภาพสูง มีหลักการสำคัญ 3 อย่าง คือ
- การรักษาความสะอาด
- การรีดแผ่นยางให้บาง ได้ขนาดตามมาตรฐาน
- การผสมน้ำกรดสำหรับทำยางแผ่นในปริมาณที่เหมาะสม
ขั้นตอนการทำยางแผ่น
เริ่มต้นตั้งแต่การกรีดยาง โดยภาชนะที่รองรับน้ำยางจะต้องสะอาด ไม่มีสิ่งสกปรกใด ๆ แม้กระทั่งรอยเปียกน้ำสกปรกก็ต้องเช็ดออก ถังสำหรับใส่น้ำยางเพื่อขนย้ายไปทำยางแผ่น ก็จะต้องสะอาดเช่นกัน ไม่ควรนำถังดังกล่าวไปใส่ขี้ยางหรือใส่สิ่งอื่น ๆ ปะปน
เมื่อเก็บรวบรวมน้ำยางเสร็จ ควรรีบนำไปทำยางแผ่นทันที เพราะหากปล่อยทิ้งไว้นานน้ำยางจะบูดหรือรัดตัว
ก่อนเริ่มทำยางแผ่นจะต้องล้างเครื่องมือที่ใช้ในการทำยางแผ่นให้สะอาดก่อนทุกครั้ง ถึงแม้ว่าจะมองด้วยตาเปล่าเห็นว่าสะอาดแล้วก็ตาม
1. นำน้ำยาง มากรองให้สะอาด ผ่านตะแกรงกรอง 2 ชั้น เบอร์ 40 และเบอร์ 60 (40 รูต่อนิ้ว หรือ 40 Mesh และ 60 รูต่อนิ้ว หรือ 60 Mesh)
2. ผสมน้ำสะอาดลงไปในน้ำยางที่กรองแล้ว ในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 ,แต่หากเป็นน้ำยางจากต้นยางอ่อนที่เพิ่งจะทำการเปิดกรีดใหม่ ให้ผสมในอัตราส่วน น้ำยาง 3 และน้ำสะอาด 2 สาเหตุที่เติมน้ำไม่เท่ากัน เพราะต้นยางที่เปิดกรีดใหม่จะมีเปอร์เซ็นต์เนื้อยางแห้ง (Dry Rubber Content) ต่ำ คนน้ำยางและน้ำสะอาดที่ผสมให้เข้ากัน
อัตราส่วนผสมนี้อาจเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเปอร์เซ็นต์เนื้อยางแห้ง หรือน้ำหนักยางแผ่นที่ได้ ตัวอย่างเช่น ใช้อัตราส่วนผสมนี้แล้ว ได้ยางแผ่นดิบแห้งน้ำหนักมากกว่า 1.2 กก. ก็ให้ลดปริมาณน้ำยางต่อตะกงลง แต่ถ้าได้ยางแผ่นดิบแห้งน้ำหนักน้อยกว่า 0.8 กก. ให้เพิ่มปริมาณน้ำยางต่อตะกงขึ้นอีก โดยปกติยางแผ่นดิบแห้งแล้วควรมีน้ำหนักประมาณ 1 กก.
3. นำน้ำยางผสมน้ำสะอาดที่ได้ ตวงใส่ตะกงอะลูมิเนียม ตะกงละ 5 ลิตร โดย 1 ตะกง จะทำยางแผ่นได้ 1 แผ่น
4. ผสมน้ำส้มยาง ตราเสือ 1 ขวด กับ น้ำสะอาด 26 ลิตร คนให้เข้ากัน จากนั้นใช้กระป๋องเปล่าของปลากระป๋อง ตักน้ำส้มยางที่ผสมน้ำแล้วเทใส่น้ำยางในตะกง ในอัตรา 1 กระป๋องต่อ 1 ตะกง
ก่อนที่จะเทกรดน้ำส้มยางลงไปในตะกงน้ำยาง ควรใช้ที่กวนน้ำยางพายกวนน้ำยางในตะกงที่จะใส่กรดสัก 1-2 เที่ยวก่อน แล้วค่อยๆ เทส่วนผสมของน้ำกรดลงไปตามยาวของตะกง
5. เมื่อผสมกรดลงไปในตะกงแล้ว ให้ใช้ที่กวนน้ำยางพายกวนต่อไปอีก 5-6 เที่ยว ซึ่งในขั้นตอนนี้จะเกิดฟองอากาศขึ้นจำนวนมาก ให้ช้อนฟองอากาศออกให้หมด ซึ่งฟองอากาศนี้ สามารถนำไปทำเป็นขี้ยางชั้นดีได้
เมื่อตักฟองอากาศออกหมดแล้ว ควรปิดฝาตะกงเพื่อป้องกันสิ่งสกปรกตกลงไป
ตั้งตะกงน้ำยางทิ้งไว้ประมาณ 30-45 นาที ยางในตะกงก็จะแข็งตัว
6. ทันทีที่ยางแข็งตัวดีแล้ว ให้รินน้ำสะอาดใส่ลงไปในทุกตะกง เพื่อความสะดวกในการเลาะยางออกจากข้างตะกง แล้วนำตะกงยางไปยังโต๊ะนวด
7. โต๊ะนวดควรทำความสะอาดไว้แล้ว เพื่อป้องกันสิ่งสกปรกติดในยางขณะนวด คว่ำตะกงน้ำยางบนโต๊ะนวดเพื่อให้ก้อนยางหลุดออกมาจากตะกง จากนั้นทำการนวดด้วยมือหรือไม้นวดก็ได้ตามแต่สะดวก โดยนวดให้ยางเป็นแผ่นบางลงมีความหน้าประมาณ 1 เซ็นติเมตร
8. นำแผ่นยางที่นวดเสร็จแล้วเข้าเครื่องรีดเรียบ3-4 ครั้ง แผ่นยางจะมีความหนาอยู่ที่ประมาณ 3-4 มิลลิเมตร
9. นำยางแผ่นเข้าเครื่องรีดดอกอีกครั้งหนึ่ง จะได้ยางแผ่นดิบที่มีความหนา 2-3 มิลลิเมตร ซึ่งเป็นขนาดที่กำลังพอเหมาะ
10. นำยางแผ่นที่รีดดอกแล้วไปจุ่มในโอ่งหรือถังน้ำเพื่อล้างให้สะอาด จากนั้นจึงนำไปผึ่งในที่ร่มที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก (ห้ามนำไปผึ่งแดด เพราะแผ่นยางจะเสื่อมคุณภาพ) เมื่อยางแห้งก็สามารถเก็บไว้ขายได้
หรือถ้าหากมีโรงรมควัน เมื่อน้ำหยุดไหลจากแผ่นยางหลังจากผึ่งไว้สักครู่ ก็สามารถนำเข้าโรงรมได้เลย
จะเห็นได้ว่าเพียงเพิ่มความใส่ใจเรื่องของความสะอาด และการผสมน้ำส้มยางให้ได้อัตราส่วน ผลผลิตยางแผ่นที่ได้ก็จะมีคุณภาพสูง ขายได้ราคาดี สร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่าให้กับชาวสวนยางมากยิ่งขึ้น
วิธีการทำยางแผ่นด้วยกรดฟอร์มิก
กรดฟอร์มิคเข้มข้น 1 3 ลิตร ผสมน้ำสะอาด 18 ลิตร ใช้กรดที่ผสมแล้ว 1 กระป๋องนมข้น (300 ซีซี)
ต่อน้ำยางที่ผสมแล้ว 1 ตะกง (น้ำยาง 3-4 ลิตร และน้ำสะอาด 2-2.5 ลิตร ) กวนให้เข้ากัน
หมายเหตุ : การผสมกรดพอดีหรือไม่
ขึ้นอยู่กับความข้นของน้ำยางและปริมาณน้ำยางที่แปลผันตามฤดูกาลของการกรีดยางเช่น
ในหน้าฝนสามารถผสมกรดให้เข้มข้นขึ้นได้ และอาจผสมเจือจางลงในหน้าร้อน เป็นต้น