สำหรับท่านที่สนใจที่จะปลูกยางพารา ข้อมูลในส่วนนี้คือวิธีการปลูกและการดูแลรักษาต้นยางพาราที่ถูกต้อง ซึ่งรายละเอียดจะเริ่มต้นตั้งแต่กระบวนการเตรียมดิน ไปจนถึงการดูแลต้นยางให้เจริญเติบโต ทั้งการใส่ปุ๋ย และกำจัดศัตรูพืช
การเตรียมดินเพื่อปลูกยางพารา
หากบริเวณพื้นที่ที่ต้องการปลูกต้นยางพาราเป็นป่า หรือมีต้นไม้อื่นขึ้นอยู่ สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ ปรับสภาพพื้นที่โดยการโค่นต้นไม้ที่อยู่ในแปลงปลูกยางออกให้หมด และทำการเก็บเศษไม้เผาให้เรียบร้อย
แต่หากพื้นที่ปลูกยางพาราเป็นที่เตียนอยู่แล้ว ให้ทำการไถ 2 ครั้งและพรวน 1 ครั้งได้เลย
ส่วนพื้นที่ลาดชันที่เกิน 15 องศา เช่น พื้นที่บนภูเขา ควรจะต้องทำเป็นขั้นบันได
การเตรียมดินเพื่อปลูกยางพารา
ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ สภาพพื้นที่ และเขตพื้นที่จะปลูกยาง ซึ่งสามารถดูรายละเอียดข้อมูลสรุปได้จากตารางด้านล่าง
การปลูก ต้นยางพารา
ชนิดของต้นพันธุ์ที่นิยมใช้ปลูกกันมากในปัจจุบันคือ ต้นยางชำถุง ขนาด 1-2 ฉัตร ซึ่งก่อนปลูกหลังจากเตรียมพื้นที่และกำหนดระยะปลูกเรียบร้อยแล้ว ต้องขุดหลุม กว้างxยาวxลึก เท่ากับ 50x50x50 เซนติเมตร แยกดินบนดินล่างไว้คนละส่วน ตากดินทิ้งไว้ 10-15 วัน จากนั้นย่อยดินให้ร่วน แล้วผสมปุ๋ยหินฟอสเฟตกับดินบนอัตรา 170 กรัม/หลุม
ในภาคเหนือและภาคอีสาน เกษตรกรควรเพิ่มปุ๋ยอินทรีย์ ในอัตรา 5 กิโลกรัม/หลุม คลุกกับดินบนและปุ๋ยหินฟอสเฟตด้วย
ช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการปลูกยาง คือ ต้นฤดูฝน
การปลูกด้วยต้นยางชำถุง เริ่มจากนำดินบนที่ผสมปุ๋ยหินฟอสเฟตเรียบร้อยแล้วใส่รองก้นหลุม จากนั้นนำต้นยางชำถุงมาตัดก้นถุงออกประมาณ 1 นิ้ว เพื่อตัดปลายรากที่คดงอทิ้ง วางต้นยางที่ตัดก้นถุงออกแล้วลงไปในหลุม โดยให้ดินปากถุงหรือรอยต่อระหว่างลำต้นและรากอยู่ระดับเดียวกับพื้นดินปากหลุมพอดี
จัดต้นยางให้ตรงกับแนวต้นอื่น ใช้มีดกรีดด้านข้างถุงพลาสติกจากก้นถุงถึงปากถุงให้ขาดจากกันกลบดินล่างที่เหลือลงไปจนเกือบเต็มหลุม ค่อยๆ ดึงถุงพลาสติกที่กรีดไว้ออกจากนั้นจึงกดอัดดินข้างถุงให้แน่น กลบดินเพิ่มจนเต็มหลุม อัดให้แน่นอีกครั้งพูนโคนเล็กน้อยเพื่อป้องกันน้ำขัง จากนั้นปักไม้หลักและใช้เชือกผูกต้นยางยึดไว้กันลมโยก
การดูแลรักษายางพาราที่ปลูก
การปลูกช่อม หลังจากปลูกแล้ว ถ้ามีต้นยางตาย ให้รีบปลูกซ่อมด้วยต้นยางชำถุงให้เสร็จภายในช่วงฤดูฝน
การตัดแต่งกิ่ง ในช่วงยางเล็ก จะตัดแต่งกิ่งที่อยู่ต่ำกว่า 2 เมตร ออกให้หมด ส่วนยางใหญ่จะตัดกิ่งที่แน่นทึบ กิ่งแห้ง และกิ่งที่เป็นโรคออก
การใส่ปุ๋ย ปุ๋ยยางมี 3 สูตร ซึ่งเหมาะกับอายุยางและพื้นที่ปลูกยางต่างกัน ดังนี้
1. สูตร 20-8-20 เหมาะสำหรับยางก่อนเปิดกรีดที่ปลูกในภาคใต้และภาคตะวันออก
2. สูตร 20-10-12 เหมาะสำหรับยางก่อนเปิดกรีดที่ปลูกในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
3. สูตร 30-5-18 เหมาะสำหรับยางเปิดกรีดแล้วในทุกพื้นที่ปลูกยาง
การป้องกันกำจัดศัตรูพืช
1. วัชพืชที่สำคัญในสวนยาง คือ หญ้าคา หญ้าไผ่ หญ้าลูกเห็บ สาบเสือ ไมยราบ เฟิร์น ต่างๆ ฯลฯ สามารถป้องกันกำจัดได้โดย
- วิธีกล ได้แก่ การไถ การใช้จอบถาก ใช้มีดถาง ใช้รถตัดหญ้า ฯลฯ
- วิธีปลูกพืชคลุม โดยใช้พืชตระกูลถั่ว เช่น คาโลโปโกเนียม เซนโทรซีม่า และเพอราเลีย
- ใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช
2. โรคที่สำคัญสำหรับยางเล็ก คือ โรคโคนต้นแห้ง และโรคตายจากยอด การป้องกันที่ดี คือ ปฏิบัติดูแลรักษาให้ถูกต้องตามคำแนะนำ คลุมโคนยางในช่วงฤดูแล้ง และควรปลูกในที่ที่มีหน้าดินลึกกว่า 1 เมตร เท่านั้น ส่วนยางที่เปิดกรีดแล้ว โรคที่สำคัญ คือ โรคใบร่วง ที่เกิดจากเชื้อราต่างๆ โรคราสีชมพู โรคเส้นดำ โรคเปลือกเน่า โรคเปลือกแห้ง และโรคราก การป้องกันที่ดีที่สุดคือ การดูแลรักษาให้ถูกต้องตามคำแนะนำ ทำสวนยางให้โปร่ง ใส่ปุ๋ยสม่ำเสมอและกรีดยางตามระบบครึ่งลำต้น วันเว้นวัน
3. แมลงสำหรับยางไม่เป็นปัญหา อาจมีอยู่บ้าง คือ ปลวก ซึ่งกัดกินต้นยางเล็กหรือต้นยางปลูกใหม่ การป้องกันกำจัดใช้สารเคมีฟีโพรนิล อัตรา 80 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร ราดโคนต้นให้ทั่วบริเวณราก ต้นละ 1-2 ลิตร